ใบพลู พืชสมุนไพรไทย กับสรรพคุณช่วยรักษาสารพัดอาการ ที่เป็นภูมิปัญญาแบบไทย ๆ
เอ่ยถึงใบพลู คนฟังจะจินตนาการย้อนยุคไปไกลหลายสิบปี นึกเห็นภาพคุณย่าคุณยายกับตะกร้าหมากและปากแดง ๆ ที่มีน้ำหมากไหลย้อยนิด ๆ ที่มุมปาก และกระโถนสำหรับบ้วนน้ำหมากทิ้ง ที่ต้องเล่าให้เห็นภาพอย่างนี้เพราะคนไทยที่อายุต่ำกว่า 40 ปีแทบจะไม่เคยเห็นวัฒนธรรมการกินหมากพลูกันแล้ว ยังมีบ้างก็ในชนบทต่างจังหวัดที่ยังคุ้นชินตาในวิถีดำรงชีวิตประจำบ้าน (คนที่กินหมากไม่ใช่แค่คุณย่าคุณยายเท่านั้น คุณปู่คุณตาก็กินด้วย แต่ไม่นิยมหิ้วตะกร้าหมาก อย่างมากก็พกใส่ชายพกสักคำสองคำ)
ใบพลูนั้นเป็นของคู่กันกับหมากมาช้านาน คนไทยจึงเรียกว่าหมากพลูคู่กันเสมอ ปัจจุบันบทบาทของหมากพลูที่แพร่หลายคือใช้เป็นเครื่องไหว้บูชาในงานพิธีสำคัญต่าง ๆ หรือใช้ไหว้พระไหว้เทพเจ้า
การเคี้ยวหมากพลูกลายเป็นของต้องห้ามของคนไทยตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี มีการตัดต้นหมากและพลูทิ้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าเสียดายยิ่งนักเพราะหมากพลูไม่ได้ใช้ประโยชน์แค่นั้น แต่ยังเป็นยาที่มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะพลูนั้นใช้ประโยชน์ได้เสมือนยาสามัญประจำบ้านปลูกไว้มีแต่ได้ประโยชน์
ย้อนกลับไปในอดีต ใบพลูเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่มีการเก็บอากรภาษี ค้างละหนึ่งบาท หรือที่เรียกว่าไม้ค้างพลู (หนึ่งค้างก็เหมื่อนพลูหนึ่งต้น) อันแสดงให้เห็นว่าเป็นพืชสมุนไพรเศรษฐกิจที่มีการซื้อขายกันมายาวนาน และพลูยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการกินหมากของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นไปถึงเอเชียใต้ อย่างมิอาจบอกได้ว่าแท้จริงแล้วต้นกำเนิดการกินหมากพลูนั้นเริ่มมาจากที่ใดกันแน่ ดังนั้นจึงมีการส่งใบพลูและหมากออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศในสมัยนั้นจำนวนไม่น้อย
แม้ปัจจุบันความสำคัญของการบริโภคหมากพลูเรียกได้ว่าแทบจะหมดไปแล้ว ยังเหลือการใช้เป็นเครื่องบูชาที่จะขาดมิได้เท่านั้น จนทำให้ชาวสวนพลูจำนวนไม่น้อยหันหลังให้กลับอาชีพนี้ และบางส่วนที่ยังทำอยู่ก็ดูเหมือนจะไร้ผู้สืบทอด ในความเป็นจริงแล้วอนาคตของสวนพลูยังสดใสเปลี่ยนจากการปลูกแล้วกิน เป็นการปลูกและนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย ตลาดน้ำมันหอมระเหยโดยรวมทุกชนิดนั้นมีมูลค่าการตลาดมหาศาล สำหรับน้ำมันหอมระเหยใบพลูแม้จะไม่ติดอันดับต้น ๆ แต่ราคาซื้อขายต่อกิโลกรัมราคาก็ไม่น้อย ปัจจุบันซื้อขายกันกิโลกรัมละ 23,000-25,000 บาท
อนาคตของชาวสวนพลูยังมีแนวโน้มที่ดีถ้ามีการพัฒนากระบวนการตั้งแต่การปลูกและผลิตอย่างเป็นรูปธรรมกระทั่งไปสู่กระบวนการแปรรูป เพราะน้ำมันหอมระเหยใบพลูสามารถพัฒนาเป็นเครื่องสำอางเพื่อความงาม ยาระงับกลิ่นกาย ยาอมบ้วนปาก น้ำมันนวดคลายกล้ามเนื้อ ขี้ผึ้งหรือครีมฆ่าเชื้อรารักษาโรคเชื้อราต่าง ๆ ทำสบู่ก้อน สบู่เหลว ได้ เป็นต้น
น้ำมันหอมระเหยใบพลู หรือ Betel Vine สกัดจากใบพลู น้ำมันหอมระเหยมีสีเหลืองออกน้ำตาลเข้มมีกลิ่นฉุนค่อนข้างมาก มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้หลายชนิด เหมาะสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในครีมหรือน้ำมันนวดบริเวณช่องท้องเพื่อดูแลระบบทางเดินอาหาร
สรรพคุณของใบพลูคือ ใบ ช่วยกระตุ้นน้ำลาย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้ปวดท้อง แก้ลมพิษและฆ่าพยาธิ รักษาแผลช้ำบวม เลือดกำเดาออก แก้ลมพิษ แก้อาการคัน น้ำมันจากใบ แก้คัดจมูก อมกลั่วคอแก้เจ็บคอ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด
สารสำคัญในใบพลูมีหลายชนิดซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาและช่วยในการกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ยับยั้งการเติบโตและฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรคและเชื้อหนอง ต้านเชื้อราของโรคผิวหนังและกลากเกลื้อน ฮ่องกงฟุต น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ลดการปวดบวมของกล้ามเนื้อ เคล็ดขัดยอก
การใช้ใบพลูรักษาโรคและอาการต่าง ๆ นั้นพบว่ามีการใช้แบบง่าย ๆ อาทิ
ดับกลิ่นปาก ใช้เคี้ยวแล้วคายทิ้งวันละ 2-3 ครั้ง ช่วยดับกลิ่นปากได้
ดับกลิ่นกาย ใช้ใบสดขยี้ให้แหลกแล้วใช้ทาถูที่ใต้รักแร้เป็นประจำ
แก้ลมพิษ ใช้ใบสดโขลกให้ละเอียดผสมเหล้าขาวเล็กน้อย ใช้ทาจนหาย
แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้ใบสดโขลกให้ละเอียดคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำร้อนสักหนึ่งแก้วดื่ม ช่วยลดอาการปวดจุกแน่นเฟ้อและบำรุงกระเพาะอาหารด้วย
ลดปวดบวม ใช้ใบพลูเลือกใบใหญ่ ๆ นำไปอังไฟให้ร้อนใช้ไปประคบบริวณที่ปวดบวมช้ำ
รักษากลากและฮ่องกงฟุต เอาใบสดโขลกให้ละเอียดดองกับเหล้าขาวทิ้งไว้ 15 วัน แล้วกรองเอาแต่น้ำใช้ทาบริเวณที่เป็น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น