ขิง
ขิง ชื่อสามัญ Ginger (จิน’เจอะ)
ขิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Roscoe จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
ขิงจัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกายของเรา เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ธาตุเหล็ก ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส แถมยังมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใยจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งประโยชน์ของขิงนั้น เราสามารถนำมาใช้ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นราก เหง้า ต้น ใบ ดอก แก่น และผลก็ได้ทั้งนั้น
ประโยชน์ของขิง
- ขิงจัดว่าเป็นยาอายุวัฒนะชั้นยอด
- มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก ช่วยชะลอความแก่และชะลอการเกิดริ้วรอย
- มีส่วนช่วยในการป้องกัน ต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง ต่อต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
- ช่วยลดผลข้างเคียงจากสารเคมีที่ใช้ในการรักษามะเร็ง ดังนั้นควรรับประทานขิงควบคู่ไปกับการรักษามะเร็งจะเป็นผลดี
- ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และช่วยในการขับเหงื่อ
- ช่วยแก้อาการร้อนใน ด้วยการใช้ลำต้นสด ๆ นำมาทุบให้แหลกประมาณ 1 กำมือ แล้วต้มกับน้ำดื่ม
- ช่วยลดความอ้วน ลดระดับไขมัน คอเลสเตอรอล ด้วยการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากลำไส้ แล้วปล่อยให้ร่างกายกำจัดออกทางอุจจาระ
- ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะและไมเกรน ด้วยการรับประทานน้ำขิงบ่อย ๆ
- ช่วยลดความอยากของผู้ติดยาเสพติดลงได้
- แก้ตานขโมย ด้วยการใช้ขิง ใบกะเพรา พริกไทย ไพล มาบดผสมกันแล้วนำมารับประทาน
- ช่วยรักษาโรคความดันโลหิต ด้วยการนำขิงสดมาฝานต้มกับน้ำดื่ม
- ช่วยบำรุงหัวใจของคุณให้แข็งแรง
- ช่วยบรรเทาอาการของโรคประสาท ซึ่งทำให้จิตใจขุ่นมัว (ดอก)
- ช่วยฟื้นฟูร่างการสำหรับมารดาหลังคลอดบุตร ด้วยการรับประทานไก่ผัดขิง
- มีส่วนช่วยให้เจริญอาหาร (ราก, เหง้า) ด้วยการใช้เหง้าสดประมาณ 1 องคุลีนำมาต้มกับน้ำดื่ม ก็จะได้เป็นยาขมเจริญอาหาร
- ใช้กินเพื่อบำรุงเป็นยาธาตุ บำรุงธาตุไฟ (เหง้า, ดอก)
- ใช้บำรุงน้ำนมของมารดา (ผล)
- ช่วยทำให้นอนหลับได้อย่างสบาย
- การรับประทานขิงจะช่วยทำให้เลือดแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดได้ช้าลง
- ใช้แก้ไข้ (ผล) ด้วยการนำขิงสดมาคั้นเป็นน้ำให้ได้ประมาณครึ่งถ้วย แล้วผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วย แล้วนำมาดื่มวันละ 3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการได้
- ช่วยแก้หวัด บรรเทาอาการไอ บรรเทาหวัดจับเสมหะ ด้วยการใช้ขิงสดฝนกับน้ำมะนาวใส่เกลือนิดหน่อย
- ไอน้ำหอมระเหยจากน้ำขิงช่วยทำลายไวรัสหวัดในทางเดินหายใจได้
- แก้ลม (ราก)
- ในผู้ป่วยที่มีอาการเมายาสลบหลังผ่าตัด น้ำขิงช่วยแก้เมาได้
- ช่วยแก้อาการเมารถ เมาเรือได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้ขิงสดนำมาตำให้แหลก คั้นเอาเฉพาะน้ำดื่ม (ไม่ต้องดื่มน้ำตาม)
- ช่วยแก้ปัญหาผมร่วง หัวล้าน ด้วยการนำเหง้าสดไปผิงไฟจนอุ่น แล้วนำมาตำให้แหลก นำมาพอกบริเวณที่มีผมร่วง วันละ 2 ครั้งจนอาการดีขึ้น หรืออีกวิธีก็คือคั้นเอาเฉพาะน้ำขิงมาผสมกับน้ำมันมะกอกแล้วนำมาหมักผม นวดให้ทั่วศีรษะประมาณ 30 นาทีก็ช่วยลดปัญหาผมร่วงได้เหมือนกัน แถมยังช่วยให้ผมสวย แข็งแรง มีความนุ่มลื่น ไม่ขาดง่ายอีกด้วย
- ช่วยบำรุงสายตา รักษาโรคเกี่ยวกับตา และใช้แก้อาการตาฟาง (ผล, ใบ)
- ช่วยรักษาอาการตาแฉะ (ดอก)
- ช่วยแก้โรคกำเดา (ใบ)
- ใช้แก้อาการคอแห้ง เจ็บคอ (ผล)
- ใช้รักษาอาการปากคอเปื่อย ท้องผูก (เหง้า,ดอก)
- ช่วยรักษาอาการปวดฟัน ด้วยการนำขิงแก่มาทุบให้ละเอียดคั่วกับน้ำสารส้มจนเกรียม แล้วบดจนเป็นผง จากนั้นนำมาพอกบริเวณฟันที่ปวด
- แก้เสมหะ เสมหะขาวเหลวปริมาณมากมีฟอง (ผล, ราก)
- ช่วยรักษาภาวะน้ำลายมาก อาเจียนเป็นน้ำใส
- ช่วยลดกลิ่นปาก แก้อาการปากเหม็น ด้วยการนำขิงมาคั้นผสมน้ำอุ่นและเกลือเล็กน้อย นำมาอมบ้วนปาก ช่วยฆ่าเชื้อโรคในปากได้อีกด้วย
- ช่วยบำรุงรักษาฟันและป้องกันการเกิดฟันผุ
- ช่วยกำจัดกลิ่นรักแร้ ด้วยการใช้เหง้าขิงแก่นำมาทุบให้แหลก แล้วนำมาคั้นเอาน้ำมาทารักแร้เป็นประจำ จะช่วยกำจัดกลิ่นได้
- ช่วยแก้อาการสะอึก ด้วยการใช้ขิงสดตำจนแหลก คั้นเอาเฉพาะน้ำผสมกับน้ำผึ้งเล็กน้อย คนจนเข้ากันแล้วนำมาดื่ม
- ช่วยรักษาโรคบิด (ผล, ราก, ดอก) ด้วยการใช้ขิงสดประมาณ 75 กรัม ผสมกับน้ำตาลแดง นำมาตำจนเข้ากัน แล้วรับประทาน 3 มื้อต่อวัน
- ช่วยแก้อาการอาเจียน (เหง้า, ผล) ด้วยการนำขิงสดประมาณ 5 กรัมหรือขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ นำมาทุบให้แตกแล้วต้มกับน้ำดื่ม
- ช่วยลดการคลื่นไส้อาเจียนจากการแพ้ท้อง (สำหรับหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานบ่อยมากจนเกินไป)
- แก้อาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง ขับลมในลำไส้ (ผล, ราก, ใบ) ด้วยการนำขิงแก่มาทุบพอแหลก เทน้ำเดือดลงไปครึ่งแก้ว แล้วปิดฝาตั้งทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วนำน้ำมาดื่มระหว่างมื้ออาหาร
- ช่วยรักษาอาการปวดในช่วงก่อนหรือหลังประจำเดือน ด้วยการนำขิงแก่ที่แห้งแล้วประมาณ 30 กรัมมาต้มกับน้ำดื่มบ่อย ๆ
- ช่วยในการย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ดอก)
- ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุกเสียด (เหง้า)
- ช่วยในการขับถ่าย และช่วยในเรื่องของระบบลำไส้ให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ
- ช่วยฆ่าพยาธิ พยาธิกลมจุกลำไส้ (ใบ) ใช้น้ำขิงผสมกับน้ำผึ้งแล้วนำมาดื่ม
- ช่วยแก้อาการขัดปัสสาวะ (ดอก, ใบ)
- ช่วยรักษาปัสสาวะรดที่นอนในผู้ป่วยที่มีภาวะหยางพร่อง มีความเย็นในร่างกายเป็นเหตุ
- ช่วยรักษาโรคนิ่ว (ใบ, ดอก)
- ช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ใบ)
- ช่วยรักษาอาการปวดข้อตามร่างกายด้วยการรับประทานขิงสดเป็นประจำ
- มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
- ใช้เป็นยาแก้คัน ด้วยการนำแก่นของขิงฝนทำเป็นยา (แก่น)
- แก้ปัญหาหนังที่มือลอกเป็นขุย ด้วยการใช้เหง้าสดมาหั่นเป็นแผ่น แล้วนำมาแช่เหล้า 1 ถ้วยชา ทิ้งไว้ 1 วัน แล้วนำแผ่นขิงมาถูบริเวณดังกล่าววันละ 2 ครั้ง
- ช่วยรักษาแผลเริมบริเวณหลัง ด้วยการใช้เหง้า 1 หัว นำมาเผาผิวนอกจนเป็นถ่าน คอยปาดถ่านที่ผิวนอกออกไปเรื่อย ๆ แล้วนำผงที่ได้มาผสมกับน้ำดีหมูนำมาทาบริเวณที่เป็นแผล
- หากถูกแมงมุมกัด ใช้ขิงสดฝานบาง ๆ นำมาวางทับบริเวณที่ถูกกัดจะช่วยบรรเทาอาการได้
- ช่วยรักษาอาการมือเท้าเย็น กลัวหนาว เย็นท้อง เป็นต้น
- ช่วยป้องกันการแพ้อาหารทะเลจนเกิดผื่นคัน ลมพิษ หรืออาหารช็อก
- ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการนำขิงสดมาตำให้แหลก แล้วนำกากมาพอกบริเวณแผล เพื่อป้องกันการอักเสบและการเกิดหนอง
- ในขิงมีสารที่สามารถใช้กันบูดกันหืนในน้ำมันได้
- ในด้านการประกอบอาหารนั้น ขิงสามารถช่วยเพิ่มรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี และสามารถช่วยดับกลิ่นคาวของอาหารได้ดีอีกด้วย
- ในด้านความงามนั้นมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของขิงอีกด้วย
- ช่วยให้ผิวพรรณเรียบเนียนยิ่งขึ้น ด้วยการนำขิงสดมาขูดเป็นฝอยแล้วนำมานวดบริเวณต้นขา ก้น หรือบริเวณที่มีเซลลูไลต์จะช่วยลดความขรุขระของผิวได้อีกด้วย
- ผลิตภัณฑ์จากขิงนั้นนำมาแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น บัวลอยน้ำขิง ขิงแช่อิ่ม ขิงเชื่อม ขิงกระป๋อง ขิงแคปซูล น้ำขิงมะนาว เป็นต้น
วิธีทำน้ำขิง
- วิธีทำน้ำขิงขั้นตอนแรกให้เตรียมส่วนผสมดังนี้ ขิงแก่ 1 กิโลกรัม / น้ำตาลทรายแดง 1 ถ้วยตวง / น้ำสะอาด 3 ลิตร
- นำขิงที่ได้ไปล้างให้สะอาด นำมาทุบให้แตก แล้วนำมาใส่ในหม้อต้ม เติมน้ำสะอาดลงไป ยกขึ้นตั้งไฟ
- เมื่อต้มจนน้ำเดือดแล้วค่อยเบาไฟลง เคี่ยวประมาณ 20 นาทีจนน้ำขิงละลายออกมาจนหมด (น้ำจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ) แล้วยกลงจากเตา
- เสร็จแล้วให้ตักน้ำขิงใส่แก้ว เติมน้ำตาลทรายแดงลงไป 1-2 ช้อนชา (ตามความต้องการ) แล้วคนจนเข้ากัน
- เรียบร้อยแล้วก็สามารถนำมาดื่มได้ โดยนำมาดื่มแบบร้อน ๆ ได้เลย
- หรือจะดื่มแบบเย็น ๆ ด้วยการใส่น้ำแข็งลงไปก็ได้เช่นกัน แต่ควรเติมน้ำตาลมากกว่า 2-3 เท่า (จะช่วยไม่ให้รสจืดมากเกินไป เพราะมีน้ำแข็งผสมอยู่นั่นเอง)
- น้ำขิงที่คั้นมานั้นไม่ควรใช้ปริมาณที่เข้มข้นจนเกินไป เพราะจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เพราะจะไประงับการบีบตัวของลำไส้ จนทำให้ลำไส้หยุดการบีบตัว ดังนั้นควรคั้นในปริมาณน้อย ๆ หรือดื่มจนชินก่อน
เรามักจะรู้จักคุ้นเคยกับขิงว่าเป็นอาหารที่นิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหารและทำเครื่องดื่ม ซึ่งจริง ๆ แล้วขิงจัดเป็นสมุนไพรไทยที่ช่วยการบำบัดรักษาโรคต่าง ๆได้สารพัด ถือว่าเป็นตัวช่วยในการรักษาโรคได้เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ควรจะหวังพึ่งสรรพคุณของขิงเพียงอย่างเดียวในการบำบัดรักษาโรค ควรจะทำอย่างอื่นหรือดูแลสุขภาพของเราร่วมด้วยจะได้ผลดีนักแล
เรามักนิยมใช้ขิงแก่ เพราะยิ่งแก่จะยิ่งให้ความเผ็ดร้อน จึงมีสรรพคุณทางยาที่มากกว่าขิงอ่อน และยังมีใยอาหารมากขึ้นตามไปด้วย แต่เนื่องจากขิงมีรสเผ็ด มีคุณสมบัติอุ่น จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีความร้อนภายในร่างกายอยู่แล้ว เช่นผู้ที่เหงื่อออกมาก เหงื่อออกเวลากลางคืน ตาแดง หรือมีไฟในตัวมากกว่าปกติ แต่ถ้าจะรับประทานควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น