วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เพชรสังฆาต

เพชรสังฆาต

เพชรสังฆาต ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissus quadrangularis L. จัดอยู่ในวงศ์องุ่น (VITACEAE)
สมุนไพรเพชรสังฆาต มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สันชะควด (กรุงเทพ), ขั่นข้อ (ราชบุรี), สามร้อยต่อ (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น

ลักษณะของเพชรสังฆาต

  • ต้นเพชรสังฆาต เป็นไม้เถา เถาอ่อนสีเขียวเป็นสี่เหลี่ยมเป็นข้อต่อกัน
เพชรสังฆาต สรรพคุณ
  • ใบเพชรสังฆาต ใบเป็นใบเดี่ยวรูปสามเหลี่ยม แผ่นใบเรียบสีเขียวเป็นมัน ออกเรียงสลับตามข้อต้น ปลายใบมน โคนใบเว้า ขอบใบหยักมนห่าง ๆ ก้านยาว 2-3 เซนติเมตร
  • ดอกเพชรสังฆาต ดอกเป็นสีเขียวอ่อน ออกเป็นช่อตามข้อตรงข้ามกับใบ กลีบดอกมี 4 กลีบ โคนด้านนอกสีแดง ด้านในเขียวอ่อน เมื่อดอกบานเต็มที่จะงองุ้มไปด้านล่าง ที่ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน
  • ผลเพชรสังฆาต ผลเป็นรูปทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีแดงออกดำ ในผลมีเมล็ดกลมสีน้ำตาล 1 เมล็ด โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ได้แก่ เถา ราก ใบยอดอ่อน และน้ำจากต้น
ประโยชน์ของเพชรสังฆาต ที่โดดเด่นก็คงหนีไม่พ้นการใช้เป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร โดยมีงานวิจัยของ พญ. ดวงรัตน์ เชี่ยวชาญวิทย์ และคณะ ได้ประเมินประสิทธิภาพของสมุนไพรเพชรสังฆาตกับผู้ป่วยที่เป็นโรคริดสีดวงทวารจำนวน 121 คน เปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันอย่างดาฟลอน (Daflon) โดยผลการวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนของการประเมินผลของสมุนไพรเพชรสังฆาตกับยาดาฟลอนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และที่สำคัญยังพบว่าค่าใช้จ่ายของยาแคปซูลเพชรสังฆาตถูกกว่ายาดาฟลอนถึง 20 เท่าอีกด้วย ผลการวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่าแคปซูลเพชรสังฆาตสามารถใช้ทดแทนยาดาฟลอนในการรักษาโรคริดสีดวงทวารได้เป็นอย่างดี
แต่สรรพคุณในการรักษาริดสีดวงของสมุนไพรเพชรสังฆาตใช่ว่าจะรักษาริดสีดวงได้หายขาดเสมอไป การจะหายช้าหรือเร็วก็ยังขึ้นอยู่กับอาการว่าเป็นมากหรือน้อยแค่ไหนด้วย รวมไปถึงนิสัยการรับประทานอาหาร การดูแลตัวเองด้วยว่าคุณหมั่นรับประทานผักหรืออาหารที่มีเส้นใยมากน้อยแค่ไหน และสำหรับผู้ที่เป็นมากในระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเพชรสังฆาตหรือยาดาฟลอนก็ช่วยแค่บรรเทาอาการของโรคเท่านั้น ต้องผ่าตัดอย่างเดียวครับ

สรรพคุณของเพชรสังฆาต

  1. เพชรสังฆาตใช้ปรุงเป็นยาธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร (น้ำจากต้น)
  2. น้ำจากต้นเพชรสังฆาตใช้หยอดหู แก้น้ำหนวกไหล (น้ำจากต้น)
  3. น้ำจากต้นเพชรสังฆาตใช้หยอดจมูก แก้เลือดเสียในสตรี ประจำเดือนไม่ปกติ (น้ำจากต้น)
  4. ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (ต้น)
  5. ใช้เถาเพชรสังฆาตคั้นเอาน้ำมาดื่มแก้โรคลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟันได้ (เถา, น้ำคั้นจากต้น)
  6. ช่วยรักษาโรคลำไส้ที่เกี่ยวกับอาหารไม่ย่อย (ใบยอดอ่อน)
  7. เพชรสังฆาตมีสรรพคุณช่วยขับลมในลำไส้ (เถา)
  8. แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ (เถา, น้ำคันจากต้น)
  9. แก้กระดูกแตก หัก ซ้น (เถา)
  10. ใช้เป็นยาพอกเมื่อกระดูกหัก (ใบ, ราก)
  11. สรรพคุณเพชรสังฆาตใช้เป็นยารักษาริดสีดวง
    • ด้วยการใช้เถาเพชรสังฆาตสด ๆ ประมาณ 2-3 องคุลีต่อหนึ่งมื้ออาหาร นำมารับประทานด้วยการสอดไส้ในกล้วยสุก หรือมะขามเปียก หรือใบผักกาดดองแล้วกลืนลงไป ห้ามเคี้ยว เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้จะมีผลึก Calcium Oxalate รูปเข็มเป็นจำนวนมาก การรับประทานสด ๆ อาจทำเกิดอาหารคันในปาก ระคายต่อเยื่อบุในปากและในลำคอได้ และการรับประทานจะใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 วัน อาการของโรคริดสีดวงก็จะดีขึ้น (เถา)
    • หรือจะใช้เถาแห้งนำมาบดเป็นผง ใส่แคปซูลเบอร์ 2 ขนาด 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้งก่อนอาหารและช่วงก่อนนอน รับประทานไปสัก 1 อาทิตย์ก็จะเห็นผล (เถา)
สรรพคุณเพชรสังฆาต
เพชรสังฆาต
แหล่งอ้างอิง : ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ภาพประกอบ : Sudarat Homhual, www.tonkla.tht.in

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

               สมุนไพร            สมุนไพร  หมายถึง "ผลิตผลธรรมชาติ ได้จาก พืช สัตว์ และ แร่ธาตุ ที่ใช้เป็นยา หรือผสมกับสารอื่นตามต...